ข่าลิง ๒

Globba obscura K. Larsen

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า มีลำต้นเทียม ใบเรียงสลับ รูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงออกที่ยอด ใบประดับเรียงเวียนห่าง โค้งกลับลงด้านล่าง ดอกสีเหลือง ปลายอับเรณูมีรยางค์ ๒ แฉกคล้ายหัวลูกศร ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม

ข่าลิงเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดินขึ้นเป็นกอ สูงประมาณ ๓๐ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาวประมาณ ๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือสอบ ผิวใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ไม่มีก้านใบ ลิ้นใบสั้นมากและมีขน กาบใบยาวประมาณ ๙ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอด ห้อยลง แกนกลางช่อมีขน ช่อดอกย่อยแบบช่องวงแถวเดี่ยว ใบประดับสีเขียว โค้งกลับลงด้านล่าง ผิวมีขนเล็กน้อยหรือเกือบเกลี้ยง ใบประดับที่โคนช่อ รูปไข่ ปลายแหลม กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ไม่มีดอก ใบประดับเหนือขึ้นไปรูปใบหอก กว้าง ๒-๓ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. มีดอก กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอด ยาว ๔-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉกเล็ก ๆ กลีบดอกสีเหลือง โคนติดกันเป็นหลอดยาว ๑-๑.๔ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉกคล้ายรูปเรือ ยาวประมาณ ๕ มม. เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เปลี่ยนแปลงเป็นกลีบปาก ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแยก ๒ แฉก เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลือยาวประมาณ ๒ เท่าของแฉกกลีบดอกและชี้ลงสู่โคนดอก เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ ซม. อับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. ปลายมีรยางค์ ๒ แฉก คล้ายหัวลูกศร รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๑ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม

 ข่าลิงเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณเขาเขียว ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๓๐๐ ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข่าลิง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Globba obscura K. Larsen
ชื่อสกุล
Globba
คำระบุชนิด
obscura
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Larsen, Kai
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Larsen, Kai (1926-2012)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์